หน้าหนาวที่หลายคนโปรดปราน แต่กลับมาพร้อมปัญหาปวดใจ สังเกตไหมว่าทำไมยิ่งอากาศหนาวปากก็ยิ่งแตกยิ่งลอก?
ถ้า “ดวงตา” คือหน้าต่างของหัวใจ “ปาก” ก็เปรียบเสมือนประตูสุขภาพ เพราะมีอวัยวะในช่องปากที่สำคัญอยู่มากมาย และหลายกรณีโรคบางโรคก็เกิดจากความผิดปกติที่บริเวณปาก
แม้ภาวะริมฝีปากแห้งแตก ขาดความชุ่มชื้น ตึง แห้ง ลอกเป็นขุย เป็นแผ่น จะเกิดขึ้นได้ง่ายและเกิดได้กับทุกคน ก็ไม่ควรปล่อยผ่านหรือชะล่าใจ ยิ่งในช่วงอากาศหนาวก็ยิ่งทวีความรุนแรง และเกิดถี่ขึ้นอีกด้วย
ริมฝีปากแห้งและแตก เกิดจากริมฝีปากไม่มีต่อมไขมันช่วยสร้างน้ำมันเพื่อปกป้องเหมือนกับผิวหนังส่วนอื่น ๆ ทั้งยังต้องสัมผัสกับอาหาร ตลอดจนสารเคมีต่าง ๆ นอกจากนั้นปัญหาสุขภาพและพฤติกรรมเคยตัวบางอย่างก็สามารถส่งผลเสียให้ริมฝีปากของเราได้เช่นกัน
ปัจจัยรอบตัวล้วนเป็นสิ่งที่ส่งผลให้ริมฝีปากแห้ง ไม่ควรละเลยพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุแท้จริง ซึ่งได้แก่
การดื่มน้ำน้อย สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ริมฝีปากขาดความชุ่มชื้น ร่างกายของคนเราควรได้รับน้ำอย่างเพียงพอต่อวัน เพื่อรักษาสมดุลและรักษาความชุ่มชื้นในร่างกาย เมื่อดื่มน้ำไม่เพียงพอส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำ บริเวณริมฝีปากจะสูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงไปด้วยเช่นกัน
การเลียริมฝีปาก ไม่ควรทำเด็ดขาด เพราะวิธีนี้อาจทำให้รู้สึกว่าริมฝีปากหายแห้งได้ง่าย เมื่อความชื้นจากน้ำลายระเหยหมดไป ริมฝีปากก็จะยิ่งแห้งมากขึ้น เนื่องจากเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ช่วยย่อยอาหารในน้ำลาย จะยิ่งเข้าไปรบกวนริมฝีปากให้แห้งมากยิ่งขึ้น
สภาวะของอากาศ อากาศร้อนลมแรงทำให้สูญเสียความชุ่มชื้น ขณะที่อากาศเย็นและแห้งอย่างในฤดูหนาวทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี แม้แต่คนที่นั่งทำงานในสำนักงานที่เปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา ก็มีริมฝีปากแห้งแตกได้เช่นเดียวกัน
แสงแดด การที่ริมฝีปากสัมผัสกับแดดเป็นเวลานานหรือบ่อยครั้ง จะทำให้ริมฝีปากต้องสัมผัสรังสีอัลตราไวโอเลต (รังสียูวี) โดยตรง ซึ่งนั่นจะเป็นตัวทำลายความยืดหยุ่นของเซลล์ ทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้น เกิดรอยเหี่ยวย่นไม่เพียงแค่ผิดหน้าหรือผิวกาย แต่รวมไปถึงริมฝีปาก
ลิปสติกและลิปบาล์ม ลิปสติกโดยเฉพาะที่มีคุณสมบัติทาติดทนนานอยู่ได้ทั้งวันหรือที่เรียกว่าลิปแมท อาจมีสี น้ำหอม ลาโนลิน (ที่ให้ความชุ่มชื้น) และสารกันบูดที่ทำให้เกิดอาการแพ้ แห้งแตกได้
ลิปบาล์มทั่วไปมีสารสำคัญที่เป็นตัวดูดความชื้นจากริมฝีปาก ซึ่งทำให้เราต้องทาลิปบาล์มอยู่บ่อย ๆ หากใช้จนติดเป็นนิสัยหรือในระยะยาวอาจทำให้ริมฝีปากแตกแห้งมากขึ้น
การใช้ยารักษาโรคหรืออาหารเสริมบางชนิด ยาหรืออาหารเสริมบางประเภทก็จะมีผลกระทบที่ทำให้ริมฝีปากแห้งได้ เช่น เรตินอยด์ ยาลิเทียม วิตามินเอหรือยาเคมีบำบัด
แปรงสีฟัน ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก การแห้งแตกของปากอาจเกิดจากการแพ้ฟลูออไรด์ (ในบางราย) แพ้แอลกอฮอล์ สารที่ทำให้เกิดฟอง สารที่ให้ความสดชื่นหรือให้รสซ่าได้
ภาวะขาดวิตามิน คนที่ขาดวิตามินบี ริมฝีปากจะแตกง่ายกว่าคนทั่วไปเพราะวิตามินบีมีความสำคัญต่อผิวหนังและเยื่อบุต่าง ๆ
อาการร้อนใน เมื่อมีอาการร้อนใน ริมฝีปากมักแห้งแตก ซึ่งอาจมีแผลในปากเกิดร่วมด้วยได้
ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งเป็นเป็นความผิดปกติของเม็ดเลือดแดงหรือเกล็ดเลือดต่ำ หากพ่อหรือแม่ปากแห้ง ก็อาจส่งผลให้ลูกที่เกิดมามีภาวะปากแห้งตามไปด้วย
เราสามารถดูแลริมฝีปากเพื่อไม่ให้แตก ลอกเป็นขุยได้ดังนี้
- ไม่ควรเลียหรือกัดริมฝีปาก บางคนทำจนติดเป็นนิสัย ทำจนเกิดความเคยชินโดยเฉพาะเวลาที่ปากแห้งมักจะเลียริมฝีปาก เพราะเข้าใจว่าช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น แต่จริง ๆ แล้วกลับทำให้ริมฝีปากแห้งมากกว่าเดิม เพราะน้ำลายจะดึงความชุ่มชื้นออกไปทำให้ปากแห้งลง
- ทาลิปมันอย่างสม่ำเสมอ หากอยู่กลางแจ้งควรใช้ลิปมันที่มีส่วนผสมของสารกันแดด และหลีกเลี่ยงการใช้ลิปมันที่มีรสชาติกับเด็ก เพื่อป้องกันการเลียริมฝีปาก
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์บำรุงริมฝีปากที่มีส่วนผสมของน้ำหอม แอลกอฮอล์ สีย้อม การบูน เมนทอล หรือซาลิไซลิก แอซิด เนื่องจากอาจก่อให้เกิดความระคายเคือง
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ที่จะหล่อเลี้ยงให้ความชุ่มชื้นแก่ทุกส่วนของผิวหนัง ซึ่งรวมถึงริมฝีปากแห้งๆ ของเราด้วย ข้อนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะคุณๆ ที่อายุเริ่มมากขึ้นเพราะเซลล์ในร่างกายจะเก็บความชุ่มชื้นได้น้อยลง
- ไม่ควรหายใจทางปาก เนื่องจากลมที่ผ่านเข้าและออกอาจทำให้ริมฝีปากแห้งได้
- หากอาการปากแห้งไม่หายไปในช่วง 2-3 สัปดาห์ ควรไปควรพบแพทย์ผิวหนัง เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นอาจเกี่ยวข้องกับการแพ้ ติดเชื้อรา หรือสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจเป็นผลมาจากความผิดปกติในร่างกาย อย่างภาวะกระแดด เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงแสงแดด ทำได้สารพัดวิธี ไม่ว่าจะกางร่ม ใส่หมวก หรือใช้ผ้าคลุมก็ได้ เลือกใช้กันได้ตามความสะดวกและความเหมาะสม
- เพิ่มความชื้นภายในห้อง แนะนำให้วางน้ำสักแก้วไว้ใกล้ๆ เครื่องปรับอากาศ (ถ้าทำได้) เพื่อเพิ่มความชื้นในห้อง
- เปลี่ยนลิปสติก เลือกใช้สีอ่อน ๆ เนื่องจากจะมีปริมาณของสีน้อยกว่าลิปสติกสีเข้ม โอกาสแพ้จะได้น้อยลง หรือรุนแรงน้อยกว่า ส่วนลิปบาล์มนั้นไม่ควรทาตลอดเวลา
- เปลี่ยนยาสีฟัน เป็นยาสีฟันสมุนไพร ฟองน้อยลง รสอ่อน หรือลองเปลี่ยนมาใช้ยาสีฟันเด็ก หรือก่อนแปรงฟันอาจทาปิโตรเลียมเจลลี่เคลือบริมฝีปากเพื่อป้องกันการระคายเคือง
- รับประทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามินบี อย่างธัญพืชไม่ขัดขาว เช่นข้าวกล้อง ผักใบเขียว เช่น ผักโขม บรอกโคลี คะน้า และถั่วเปลือกแข็ง เช่นพวกเมล็ดอัลมอนด์ ถั่วลิสง มะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น